การประกอบอาชีพ

การทำนาปลูกข้าว

การเตรียมพันธุ์ข้าว


เมื่อนำเมล็ดข้าวไปเพาะให้งอก โดยแชน้ำนานประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วนำเมล็ดขึ้นจากน้ำและเก็บไว้ในที่มี ีความชื้นสูงเมล็ด จะงอก ภายใน 48 ชั่วโมง จึงนำเมล็ดที่เริ่มงอกเหล่านี้ไปปลูกในดินที่เปียก ส่วนที่เป็นรากจะเจริญเติบโตลึกลงไปในดิน ส่วนที่เป็น ยอดก็จะสูงขึ้นเหนือผิวดินแล้วเปลี่ยนเป็นใบ ต้นข้าวเล็กๆนี้เรียกว่า ต้นกล้าหลังจากต้นกล้ามีอายุ ประมาณ 40 วัน จะมีหน่อใหม่เกิดขึ้นโดยเจริญเติบโตออกจากตา บริเวณโคนต้น ต้นกล้าแต่ละต้นสามารถแตกหน่อใหม่ประมาณ 5-15 หน่อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธ์ ข้าวระยะปลูก และความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่หน่อต้นกล้าให้ร่วงข้าวหนึ่งรวง แต่รวงข้าวมีเมล็ดข้าวประมาณ 100-200 เมล็ด โดยปกติต้นข้าวที่โตเต็มที่แล้วจะมีความสูงจากพื้นดินถึงปลายรวงที่สูงที่ สุดประมาณ100-200 เซนติเมตรซึ่งแตกต่างไปตามพันธุ์ ข้าว ตลอดจนถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินและความลึกของน้ำ


การปลูกข้าว



วิธีการปลูกข้าวหรือการทำนาในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 วิธี ดังนี้

การปลูกข้าวไร่ หมายถึง การปลูกข้าวบนที่ดอนไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ชนิดของข้าวที่ปลูกเรียกว่า ข้าวไร่พื้นที่ดอนส่วนมากเช่น ภูเขา มักจะไม่มีระดับ คือ สูงๆต่ำๆ จึงไม่สามารถไถเตรียมดิน และปรับระดับดินได้ง่ายๆ เหมือนกับพื้นที่ราบ เพราะฉะนั้น ชาวนามักปลูกข้าวแบบหยอด โดยขั้นแรกทำการตัดหญ้าและต้นไม้เล็กออก แล้วจึงทำความสะอาดพื้นที่ที่จะปลูก แล้วใช้หลักไม้ปลาย แหลมเจาะดินเป็นหลุม ปกติจะต้องหยอดพันธุ์ข้าวทันที่หลังจากที่เจาะหลุม และหลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วจะใช้เท้ากลบดินปากหลุม เมื่อฝนตกหรือเมื่อเมล็ดได้รับความชื้นจากดิน เมล็ดจะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นข้าว เนื่องจากที่ดอนไม่มีน้ำขัง และไม่มี การชลประทาน การปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว พื้นที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันที่เมื่อสิ้นหน้าฝน ดังนั้นการ ปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้พันธุ์ที่มีอายุเบา โดยปลูกในต้นฤดูฝนและแก่เก็บเกี่ยวได้ในปลายฤดูฝน ดังนั้นการปลูกข้าวไร่ชาวนาจะต้องหมั่น กำจัด วัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม พื้นที่ที่ปลูกข้าวไร่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยและปลูก มากในภาคเหนือและภาคใต้ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางปลูกข้าวไร่น้อยมาก

การปลูกข้าวนาดำ หรือเรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกได้แก่การตกกล้าในแปลขนาดเล็ก และตอน ที่สองได้แก่การถอนต้นกล้านำไปปักดินในนาผืนที่ใหญ่ ดังนั้น การปลูกแบบปักดำอาจเรียกว่า Indirect Seeding ซึ่งต้องเตรียม ดินที่ดีกว่าการปลูกข้าวไร่ ซึ่งมีการไถดะ การไถแปร และการคราด ปกติการไถและคราดในนาดำมักจะใช้แรงวัวควาย หรือแทรกเตอร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า ควายเหล็ก หรือไถยนต์เดินตาม ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่นาดำมีคันนาแบ่งกั้นออกเป็นแปลงเล็กๆ ขนาดแปลงละ 1 ไร่ หรือเล็กกว่า คันนามีไว้เพื่อกักเก็บน้ำ ปล่อยน้ำทิ้งจากแปลงนา นาดำจึงมีการบังคับน้ำในนาไว้ได้บ้างพอสมควร

การไถดะ หมายถึง การถครั้งแรกเพื่อทำลายวัชพืชในนาและพลิกกลับหน้าดิน แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงทำการไถแปรซึ่งหมายถึงการไถตัดกับรอยไถดะ การไถแปรอาจไถมากกว่าหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับน้ำในนาตลอดจนถึงชนิดและปริมาณของวัชพืช เมื่อไถแปร แล้วทำการคราดได้ทันที การคราดก็คือการคราดเอาวัชพืชออกจากผืนนา และปรับพื้นที่นาให้ได้ระดับเป็นที่ราบเสมอกัน ด้วยพื้นที่นาที่มีระดับเป็น ที่ราบจะทำให้ต้นข้าวได้รับน้ำเท่าๆกัน และสะดวกต่อการไขน้ำเข้าออก

การปักดำ คือการนำต้นกล้าที่ถอนขึ้นจากแปลงแล้วมัดรวมกันเป็นมัดๆ จะต้องสลัดดินโคลนที่รากออก แล้วนำไปปักดำในพื้นที่นา ที่ได้เตรียมไว้ ถ้าต้นกล้าสูงมากก็ตัดปลายใบทิ้ง พื้นที่นาที่ใช้ปักดำควรมีน้ำขังอยู่ประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพราะต้นข้าว อาจถูกลมพัดจนพับลงได้เมื่อนานั้นไม่มีน้ำขังอยู่เลย ถ้าระดับน้ำในนั้นลึกมากต้นข้าวที่ปักดำอาจจมน้ำในระยะแรก และ ข้าวจะต้องยืดต้น มากกว่าปกติ จนผลให้แตกกอน้อย การปักดำที่ได้ผลผลิตสูงจะต้องปักดำให้เป็นแถวเป็นแนว และมีระยะห่างระหว่างกอมากพอสมควร

การหว่านคราดกลบหรือไถกลบ ชาวนาจะทำการไถดะและไถแปร แล้วจึงนำเมล็ดที่ยังไม่ได้เพาะ ให้งอกหว่านลงไปทันทีแล้ว คราด หรือไถเพื่อกลบเมล็ดที่หว่านลงไปอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากดินมี ความชื้นอยู่แล้วเมล็ดจะเริ่ม งอกทันทีหลังจากหว่านลงดิน การ ตั้งตัว ของต้นกล้าจะตั้งตัวดีกว่า การหว่านสำรวย เพราะเมล็ดที่หว่านถูกกลบฝังลึกลงในดิน

การหว่านน้ำตม การหว่านแบบนี้นิยมใช้ในพื้นที่มีน้ำขังประมาณ 3-5 เซนติเมตร และพื้นที่นา เป็นผืนใหญ่ขนาด ประมาณ 1-2 ไร่มีคันนากั้นเป็นแปลงการเตรียมดินทำเหมือนกับการเตรียม ดินสำหรับนาดำ ซึ่งมีการไถดะ ไถแปร และคราดเพื่อเก็บวัชพืชออก จากพื้นนาแล้วจึงทิ้งให้ดิน ตกตะกอนจนเห็นว่าน้ำใส จึงนำเมล็ดพันธุ์ที่เพาะให้งอกแล้วหว่านลงนาและไขน้ำออก เมล็ดจะเจริญเติบโตเป็นต้นข้าวและเจริญเติบโตอย่างข้าวอื่นๆ ตามปกติการหว่านแบบนี้นิยมทำกันใน ท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทราที่ทำการปลูกข้าวนาปรัง
การทำไร่อ้อย


  ขั้นตอนวิธีการปฏิบัติในการบริหารจัดการไร่อ้อย 
 เมื่อมีปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐานทั้งปริมาณและคุณภาพแล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นขั้นตอนของวิธีการปฏิบัติให้ได้คุณภาพ ตั้งแต่การปรับปรุงดิน การเตรียมดิน การปลูก การใส่ปุ๋ย การควบคุม วัชพืช ตลอดจนการเก็บเกี่ยวขนส่งและบำรุงตอ ซึ่งจะได้กล่าวพอเป็นสังเขป ดังนี้

การปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับกับการปลูกอ้อย
สภาพไร่ควรจะราบเรียบ ถ้ามีจอมปลวก ตอไม้ ต้นไม้ ก้อนหิน ต้องขจัดออก ถ้าไม่ขจัดออกชาวไร่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนปลูกอ้อยสูงกว่ารายที่ได้ขจัดออกแล้วและควรมีหน้าดินลึกกว่า 50 เซนติเมตร
ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำ 1.0 ให้ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก เช่น มูลเป็ด มูลไก่ มูลโค มูลกระบือ หรือปุ๋ยพืชสด เช่น ถั่วมะแฮะ ถั่วพร้า โสน ปอเทือง ฯลฯ หรือใช้กากตะกอนหม้อกรอง (Filter cake) อัตรา 20 ตัน/ไร่ พรวนคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน
ถ้าดินเป็นกรดจัด pH ต่ำกว่า 5.0 ควรปรับปรุงดินด้วยปูนขาว อัตราประมาณ 200 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าใช้เครื่องหว่านปูนขาว ปูนจะลงสม่ำเสมอ หว่านก่อนเตรียมดินปลูก
ถ้าดินมีความลาดเทให้ทำคันดินขวางความลาดเท ปลูกหญ้าแฝกบนคันดิน ถ้าดินลาดเทมากคันดินต้องถี่ ถ้าลาดเทน้อยคันดินห่าง จะทำให้รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ได้นาน
ถ้าพื้นที่เป็นที่ต่ำต้องจัดการระบายน้ำไม่ให้ท่วมขังในแปลง

 การเตรียมดินปลูกอ้อย
          
          หลักการเตรียมดิน การเตรียมดินที่ลึกจะทำให้รากอ้อยหยั่งรากไปดูดน้ำอาหารได้ และการเตรียมดินที่ละเอียดจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีโดยเฉพาะอ้อยข้ามแล้งต้องเตรียมละเอียดเป็นพิเศษ ส่วนต้นฝนไม่จำเป็น

   1.การเตรียมดินปลูกอ้อยข้ามแล้ง เดือนสิงหาคม กันยายน ไถหมักปุ๋ยพืชสด (ถั่วมะแฮะ ถั่วพร้า ฯลฯ) เปิดหน้าดินรับน้ำฝน (หมักวัชพืช) ด้วยผาน 3 หรือ ผาน 4 เดือนตุลาคม หลังหมดฝน พรวนด้วยผาน 7 หรือพรวน 20 จาน (ออฟเสท) ลงริปเปอร์ลึก 40-50 เซนติเมตร ความกว้างระหว่างขา 55 เซนติเมตร 1 ครั้ง เพื่อให้ส่วนที่เป็นดานแตกร้าวถึงกันหมดและดินได้อากาศ แล้วตัดขวางอีก 1 ครั้ง เสร็จแล้วพรวนด้วย 20 จาน    (ออฟเสท) ถ้าหากมีไถสิ่ว จะใช้ไถสิ่วแทนริปเปอร์ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน ปลายตุลาคม ปลูกจนกระทั่งเดือนธันวาคม หรือดินหมดความชื้น ถ้าดินหมดความชื้นแล้วยังปลูกไม่เสร็จให้ใช้น้ำราด การที่ไม่แนะนำให้ใช้ผาน 3 หรือผาน 4 เตรียมดินหลังจากหมดฝนแล้วเพราะหลังจากหมดฝนหน้าดินเริ่มแห้งการใช้ผานไถพลิกดินเอาดินชื้นขึ้นมาและเอาดินแห้งพลิกลงไปทำให้ความชื้นสูญเสียมากกว่าการใช้ริปเปอร์หรือไถสิ่วซึ่งไม่พลิกดินซึ่งความชื้นไม่สูญเสีย

   2.  การเตรียมดินรื้อตอปลูกต้นฝน ระยะเวลาดำเนินการ ธันวาคม มีนาคม
- กรณีมีใบอ้อย - ผานไถชนิดพรวนคลุกใบอ้อยให้เข้ากับดิน
- กรณีเผาใบ    - ถ้าเป็นอ้อยเผาใบ พรวนรื้อตอด้วยผาน 7 หรือพรวน 20 (ออฟเสทของ KMT) ดินจะร่วนตอจะแตกถ้าไถด้วยผาน 3 หรือผาน 4 จะไถตอขึ้นทั้งตอ ตอจะไม่ตายและจะแตกหน่อขึ้นอีก ทำให้เกิดพันธ์ปลอมปนไถด้วยผาน 3 หรือผาน 4 พรวนอีก 1 ครั้ง ริปเปอร์แบบตาหมากรุก ยกร่องรอฝน (ถ้าความชื้นไม่พอ) ปลูกเมื่อฝนตก หรือดินมีความชื้น ยกร่องปลูกทันที หรือปลูกด้วยเครื่องปลูก ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม การเตรียมพันธุ์อ้อยชาวไร่ทุกรายควรมีแปลงพันธุ์ของตนเอง เพื่อที่จะได้พันธุ์บริสุทธิ์ (ไม่คละพันธุ์) ปลอดโรค และแมลง ขณะตัดพันธุ์ต้องตัดเฉพาะอ้อยลำที่สมบูรณ์เท่านั้น อ้อยลำเล็กผิดปกติ อ้อยเป็นโรค ห้ามตัดให้ทิ้งไว้ในไร่ นำเฉพาะอ้อยปกติเท่านั้นไปปลูก
-กรณีมีหนอนกอเข้าทำลายบ้างเล็กน้อย ก่อนปลูกให้นำไปแช่น้ำ 24 ชั่วโมง หรือแช่น้ำร้อน 50-52° C เป็นเวลา 2 ชั่วโมง หรือแช่น้ำปูนขาว 7-8 ชั่วโมง หรือใช้แบคทีเรียผสมน้ำราดกองพันธุ์อ้อยทิ้งไว้ 1-2 วันก่อนปลูก เพื่อฆ่าหนอนในลำอ้อย การตัดพันธุ์ต้องไม่ลอกกาบ เพราะการขนย้ายจะทำให้ตาช้ำ ตาแตก อ้อย ไม่งอก เมื่อตัดพันธุ์เสร็จให้รีบปลูกเพราะถ้าทิ้งไว้นานเกิน 5 วัน เปอร์เซนต์การงอกจะต่ำลง การลอกกาบก่อนปลูกจะทำให้อ้อยงอกเร็วกว่าไม่ลอกกาบเล็กน้อย แต่จะทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ถ้าใช้เครื่องปลูกควรลอกกาบเพราะจะทำให้อ้อยลงสม่ำเสมอ ถ้าสงสัยว่าแปลงพันธุ์อ้อยจะเป็นโรคใบขาวหรือไม่ ให้สุ่มตัดยอดทิ้ง จำนวน 15-20 ยอด ถ้าตาที่แตกมีใบขาวเกินจาก 1-2 ต้น อ้อยแปลงนี้ก็ไม่ควรใช้ทำพันธุ์
   
   การปลูกอ้อย

การปลูกอ้อยให้งอก 100% ดินจะต้องมีความชื้นพอเหมาะพันธุ์อ้อยจะต้องสมบูรณ์ ตาอ้อยไม่แตกหรือช้ำ เมื่อวางท่อนพันธุ์แล้ว เทคนิคการกลบจะมีผลต่อการเกิด และการแตกกอของอ้อยกล่าวคือถ้ากลบบางเกินไปดินอาจจะแห้งก่อนอ้อยจะงอก ถ้ากลบดินหนาเกินไป อ้อยจะเกิดช้าและไม่แตกกอ หรือหากปลูกแล้วฝนทับอ้อยจะเน่าไม่งอกเลย ฉะนั้นการกลบท่อนพันธุ์จะหนาหรือบางขึ้นกับสถานการณ์ในขณะนั้น

 การปลูกอ้อยสามารถใช้เครื่องปลูกและแรงงานคนวางท่อนพันธุ์แล้วกลบด้วยแรงงาน รถไถเดินตามหรือรถแทรกเตอร์ติดเครื่องมือกลบ มีทั้งปลูกอ้อยข้ามแล้ง ก่อนฝน (น้ำราด) และต้นฝน ขั้นตอนและวิธีการปลูก ดังนี้

     1.เครื่องปลูกอ้อย เครื่องปลูกอ้อยมีหลายแบบ  เช่น เครื่องปลูกแบบเสียบท้าย เครื่องปลูกแบบเสียบบน เครื่องปลูกแบบท่อน (Billet Planter) ที่นิยมใช้ในบ้านเราคือ เครื่องปลูกแบบเสียบบน และเครื่องปลูกแบบเสียบท้าย ตรวจความพร้อมของเครื่องปลูกอ้อย หัวหมูอยู่ในสภาพดีเบิกร่องได้ดี ใบมีดตัดพันธุ์อ้อยคมอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ลูกยางป้อนอ้อยไม่ฉีกขาดไม่แข็งเกินไป (ถ้าแข็งเกินไปจะทำให้ ตาอ้อยแตกหรือท่อนพันธุ์บอบช้ำทำให้เชื้อโรคเข้าได้ง่าย โซ่ สายพาน อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน ชุดใส่ปุ๋ย ท่อส่งปุ๋ยอยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมใช้งาน ปุ๋ยรองพื้นใช้สูตร 20-20-0 หรือ 16-20-0 หรือ 16-16-8 (ให้ p สูง เพื่อเร่งราก) ชุดกลบดินต้องตั้งให้กลบดินพอเหมาะกับช่วงที่ปลูกในขณะนั้น ลูกกลิ้งบดอัด ถ้าปลูกข้ามแล้ง การกลบหลังบดอัดให้แน่นแล้วหนา 6-10 เซนติเมตร ถ้าปลูกต้นฝนดินชื้นมาก กลบหนา 2-5 เซนติเมตร ไม่จำเป็นต้องบดอัด ปลูกโดยใช้เกียร์ สโลว์ (slow) 1-2 อัตราเร็ว ประมาณ 4 กิโลเมตร/ชั่วโมง เร่งเครื่องยนต์ที่ 1,300-1,500 รอบ/นาที
ปรับความลึกของร่องประมาณ 20-25 เซนติเมตร โดยใช้ระบบไฮโดรลิกอัตโนมัติ ควบคุม ป้อนท่อนพันธุ์โดยไม่ขาดตอนหรือป้อนท่อนพันธุ์ให้ซ้อนกัน 0.50-1.00 เมตร ปัจจุบันนิยมใช้เครื่องปลูกแบบร่องคู่ เพื่อลดการเสี่ยงจากอ้อยไม่งอกและเพิ่มเปอร์เซนต์การงอก ระยะระหว่างร่อง 1.50 เมตร ถ้าดินมีปลวกต้องฉีดพ่นท่อนพันธุ์ด้วยแอสเซนต์ อัตรา 450 ซีซี./ไร่ หรือ 80 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร

     2.  การปลูกอ้อยข้ามแล้ง เดือนตุลาคม พฤศจิกายน หรือธันวาคม ดินที่เตรียมไว้ต้องละเอียด เตรียมดินลึกมากกว่า 30 เซนติเมตร ดินมีความชื้นดี ปลูกด้วยเครื่องปลูกจะลดการสูญเสียความชื้น ความลึกที่ระดับ 20 เซนติเมตร มีความชื้นดี เมื่อกำดูดินจะรวมเป็นก้อน เมื่อแบมือออกดินไม่แตกออก ถ้าแตกออกแสดงว่าความชื้นไม่พอ ต้องให้น้ำ ถ้าไม่มีน้ำต้องยุติการปลูก การปลูกด้วยแรงงานเมื่อเปิดร่องด้วยผานหัวหมูจะต้องรีบใส่ปุ๋ยรองพื้นวางท่อนพันธุ์ สับ 3-4 ตา/ท่อน กลบดินหนาประมาณ 10 เซนติเมตร ด้วยรถไถเดินตามหรือแรงงาน ระยะห่าง 1.20-1.30 เมตร สำหรับการบำรุงรักษาด้วยแรงงาน หรือรถไถ เดินตาม ระยะห่าง 1.40-1.50 เมตร สำหรับการบำรุงรักษาด้วยเครื่องจักรกล ถ้าพันธุ์ที่แตกกอไม่ดี ควรวางท่อนคู่ หรือปลูกร่องคู่ ถ้าดินมีปลวกให้ฉีดพ่นท่อนพันธุ์ด้วยแอสเซนด์ อัตรา 450 ซีซี./ไร่ ก่อนกลบ

     3.  ปลูกอ้อยน้ำราด ระหว่างเดือนธันวาคม - มีนาคม ถ้าดินที่เตรียมไว้ความชื้นไม่เพียงพอ หลังจากเบิกร่องใส่ปุ๋ยรองพื้น 40-50 กิโลกรัม/ไร่ วางท่อนพันธุ์ สับ 3-4 ตา/ท่อน กลบบาง ๆ แล้ว ให้น้ำในร่องอ้อยเมื่อดินหมาด ให้กลบด้วย ดินแห้ง 3-5 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่อง 1-20-1.30 เมตร สำหรับบำรุงรักษาด้วยแรงคนหรือ รถไถเดินตาม หรือระยะห่าง 1.40-1.50 เมตร สำหรับบำรุงรักษาด้วยเครื่องจักรกล พันธุ์อ้อยหากแตกกอไม่ดีควรวางคู่ ถ้าดินมีปลวกให้ฉีดพ่นท่อนพันธุ์ด้วยแอสเซนต์ อัตรา 450 ซีซี/ไร่ ก่อนกลบ

     4.  ปลูกอ้อยต้นฝน ควรปลูกตั้งแต่ฝนแรก ๆ ควรจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม เดือนมีนาคม-เมษายน เกิดฝนตก ดินชื้นพอ ถ้าปลูกช่วงมีนาคม-เมษายน อากาศร้อนจัด ถ้ากลบดินน้อยกว่า 10 เซนติเมตร ตาอ้อยจะสุกไม่งอก หรือดินจะแห้งก่อนอ้อยงอก อ้อยจะเสียหายหมดถ้าฝนไม่ตกซ้ำ ฉะนั้นการปลูกอ้อยในเดือนมีนาคม-เมษายน ต้องติดตามสภาพ ดินฟ้าอากาศอย่างใกล้ชิด ถ้าอากาศร้อนจัดควรกลบดินหนา 10-12 เซนติเมตร และดินต้องมีความชื้นเพียงพอ ระยะระหว่างร่อง 1-20-1.30 เมตร สำหรับบำรุงรักษาด้วยแรงงานคนหรือ รถไถเดินตาม หรือระยะห่าง 1-40-1.50 เมตร สำหรับบำรุงรักษาด้วยเครื่องจักร หลังจากเบิกร่อง ใส่ปุ๋ยรองพื้น 40-50 กิโลกรัม/ไร่ วางท่อนพันธุ์ สับ 3-4 ตา/ท่อน ถ้าดินชื้นมาก กลบ 2-5 เซนติเมตร หรือไม่ต้องกลบ พันธุ์อ้อยหากแตกกอไม่ดีควรวางคู่ หรือปลูกร่องคู่ ข้อควรระวัง การกลบดินหนา หากฝนตกหนักจะทำให้ท่อนพันธุ์เน่า ไม่งอก ถ้างอกจะไม่แตกกอ

การดูแลรักษา

การดูแลรักษา ได้แก่ การควบคุมวัชพืช การใส่ปุ๋ย การควบคุมโรคและแมลง


การทำไร่มันสำปะหลัง


วิธีการเพาะปลูกมันสำปะหลังที่เหมาะสม

1. การเตรียมดิน
             หากดินที่ทำการเพาะปลูกมันติดต่อกันหลายปี ควรปรับปรุงดิน เพื่อรักษาระดับผลผลิตในระยะยาว ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเปลือกมันชนิดเก่าค้างปี (จากโรงแป้งทั่วไป) ที่หาได้ในท้องถิ่น หรือ ปลูกพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ หมุนเวียนบำรุงดิน ในกรณีที่พื้นที่ประเภทหญ้าคา ควรใช้ยาราวด์อัพหรือเครือเถาต่าง ๆ ควรใช้ยาสตาร์เรน ฉีดพ่นยาจำกัดเสียก่อนการไถ จากนั้นไถครั้งแรกโดยไถกลบวัชพืชก่อนปลูกด้วยผาน 3 (อย่าเผาทำลายวัชพืช) ให้ลึกประมาณ 20-30 ซม. แล้วทิ้งระยะไว้ประมาณ 20-30 วัน เพื่อหมักวัชพืชเป็นปุ๋ยในดินต่อไป ไถพรวนด้วยผาน 7 อีก 1-2 ครั้ง ตามความเหมาะสม และรีบปลูกโดยเร็ว ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่

2. การเตรียมท่อนพันธุ์
            ใช้ท่อนพันธุ์มันที่สด อายุ 10-12 เดือน ตัดทิ้งไว้ไม่เกินประมาณ 15 วัน โดยติดให้มีความยาวประมาณ 20 ซม. มีตาไม่น้อยกว่า 5 ตา เพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง ควรจุ่มท่อนพันธุ์ในยาแคปแทน 1.6 ขีด (160 กรัม) ผสมร่วมกับมาลาไธออน 20 ซีซี ในน้ำ 20 ลิตร ประมาณ 5 นาที ก่อนปลูก

3. การปลูก
            ปลูกเป็นแถวแนวตรง เพื่อสะดวกในการบำรุงรักษาและกำจัดวัชพืช โดยใช้ระยะระหว่างแถว 1.20 เมตร ระยะระหว่างต้น 80 ซม. และปักท่อนพันธุ์ให้ตั้งตรงลึกในดินประมาณ 10 ซม.

4. การฉีดยาคุมเมล็ดวัชพืช
สำหรับการปลูกในฤดูฝนสภาพดินชื้น ควรฉีดยาคุมวัชพืชด้วยยาไดยูรอน (คาแม็กซ์) หลังจากการปลูกทันที ไม่ควรเกิน 3 วัน หรือก่อนต้นมันงอก หากฉีดหลังต้นมันงอก อาจทำให้ต้นมันเสียหายได้ ใช้ยาในอัตรา 6 ขีด (600 กรัม) ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นได้ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง

5. การกำจัดวัชพืชและการใส่ปุ๋ย
กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 1 ประมาณ 30-45 วัน หลังการปลูก โดยใช้รถไถเล็กเดินตาม หรือ จานพรวนกำจัดวัชพืช ติดท้ายรถแทรกเตอร์ พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 25-50 กก./ไร่ ห่างจากต้นมัน 1 คืบ (20 ซม.) จากนั้นใช้จอบกำจัดวัชพืชส่วนที่เหลือ พร้อมกับกลบปุ๋ยไปด้วย หรือใส่ปุ๋ยโดยการขุดหลุม ห่างจากโคนต้น 1 คืบ แล้วกลบดินตามก็ได้ ข้อสำคัญควรใส่ปุ๋ยขณะที่ดินมีความชื้นอยู่ กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 2 ประมาณ 60-70 วัน หลังการปลูก โดยปฏิบัติเช่นเดียวกันกับครั้งแรก กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 3 ตามความจำเป็น โดยใช้จอบถาก หรือฉีดพ่นด้วยยากรัมม๊อกโซน (ควรใช้ฝากครอบหัวฉีด เพื่อป้องกันไม่ให้ยาโดนตาและลำต้นมัน)

6. การเก็บเกี่ยว

ทำการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงอายุที่เหมาะสม คือ ประมาณ 10-12 เดือน พร้อมทั้ง วางแผนการเตรียมท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อการปลูกในคราวต่อไปส่วนของต้นมันสำปะหลังที่ไม่ใช้ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน หรือ ลำต้น ควรสับทิ้งไว้ในแปลง เพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสดในดินต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น