สินค้า OTOP


ผ้าไหมมัดหมี่

อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ



ผ้าไหมมัดหมี่อำเภอบ้านเขว้า โดยเฉพาะตำบลบ้านเขว้า มีประวัติความเป็นมา อันยาวนานเป็นเวลานานเกือบ   200 ปี  ตั้งแต่สมัยเจ้าพ่อพระยาแล  เป็นชุมชนที่มีการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมานานในหมู่ผู้นิยมผ้าไหม   และเกิดการเล่าขานแพร่กระจายในกลุ่มนักสะสมผ้าไหม  ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ของตนเองสืบต่อถ่ายทอดกันมาแต่โบราณ 
          การทอผ้าไหมมัดหมี่ ชาวบ้านเขว้า ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพชน นานเกือบ 200 ปีนับแต่มีการก่อตั้งชุมชนบ้านเขว้า  เริ่ม จากการทอเพื่อใช้ในครัวเรือน ต่อมาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของเจ้าบ่าว เจ้าสาว ใช้เป็นของไหว้สำหรับญาติฝ่ายชายในงานแต่งงาน งานบวชใช้แต่งตัวนาคและผู้ที่ไปร่วมงาน รวมถึงงานบุญ    งานทาน งานประเพณีต่างๆ ผู้คนจะแต่งกายด้วยผ้าไหม ทั้งหญิงและชาย เป็นการประกวด  ประชันทั้งฝีมือการทอและการตัดเย็บกันไปในที            
           ผ้าไหมของบ้านเขว้า เริ่มเป็นที่รู้จักทั่วไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2523 นายถนอม แสงชมภู   นาย อำเภอขณะนั้น ได้นำผ้าไหมส่งศูนย์ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ด้วยคุณภาพของผ้าไหม ลวดลายที่แปลกตา และผีมือที่ปราณีต จึงได้รับความสนใจ มีผู้สั่งทอเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี พ.ศ.2530 ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิในขณะนั้น (ร.ต. สุนัย ณ อุบล รน. :ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านผ้าไหม และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหม) ได้ ให้การส่งเสริมการผลิตและได้ส่งผ้าไหมบ้านเขว้าเข้าประกวดที่โครงการศิลปา ชีพ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ หลังจากนั้น ผ้าไหมบ้านเขว้าได้รับการคัดเลือกส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศเกือบ ทุกปี
          เอกลักษณ์ของลายผ้า  เป็นการสะท้อนความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของชุมชนที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน  ก่อให้เกิดจินตนาการคิดค้นออกมาเป็นลวดลายต่างๆ  บนผืนผ้าถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
          การเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์กับภูมิปัญญา มีการสาธิตการผลิตผลิตภัณฑ์และกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการผลิต เช่น  การทอผ้า  การเพนท์ผ้า  การหยอดทอง  เป็นต้น
          ในปี พ.ศ.2545 ในโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”  ผ้าไหมบ้านเขว้าได้รับการพิจารณาเป็นสินค้าระดับ 5 ดาวของจังหวัดชัยภูมิ และในการประกวดสินค้าOTOP ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผ้าไหมบ้านเขว้าได้รับรางวัลชนะเลิศของประเทศ ยอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากการจำหน่ายผ้าไหมในงานแสดงสินค้าที่ OTOP CITY เมืองทองธานี ยอดจำหน่ายสินค้า OTOP ของจังหวัดชัยภูมิรวมทั้งสิ้นประมาณ 18 ล้านบาทเศษ เป็นยอดจำหน่ายผ้า 14 ล้านบาทเศษ ในจำนวนนี้เป็นผ้าไหมบ้านเขว้าที่สามารถจำหน่ายได้ถึง 12 ล้านบาทเศษ ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์           
           ปี พ.ศ.2547 อำเภอบ้านเขว้าได้รับเกียรติอันสูงยิ่ง ให้เป็นผู้ทอผ้าไหม ไม้แรกของประเทศในการทอผ้าตามโครงการ ถักร้อยดวงใจ มหกรรมผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินีซึ่งจังหวัดต่าง ๆ จะทอผ้าแล้วนำมาต่อกันเป็นผืนเดียวที่มีความยาวหลายร้อยเมตรนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา

หม่ำ

            บ้านบัว  ตำบลบ้านบัว  อำเภอเกษตรสมบรูณ์  จังหวัดชัยภูมิ



                บ้านบัวเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านบัว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ บ้านบัวเป็นหมู่บ้านที่น้อมนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตจนได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านต้นแบบตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงระดับอำเภอของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าว ปลูกพืชหมุนเวียน และเลี้ยงสัตว์ มีชาวบ้านอาศัยอยู่ทั้งหมด 239 ครัวเรือน จำนวนประชากร 818 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 41,120 บาท / ปี กองทุนหมู่บ้านบ้านบัว ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ประกอบด้วยคณะกรรมการ ฯ จำนวน 15 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน ประกอบด้วยสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 124 คน สมาชิกส่วนใหญ่ที่กู้เงินไปประมาณ 90 % นำไปลงทุนประกอบอาชีพเกษตรกรรม และ 10 % ประกอบอาชีพค้าขาย ( อัตราดอกเบี้ย 6 % ต่อปี ) และได้รับการจัดชั้นมาตรฐานกองทุนเป็นกองทุนหมู่บ้านระดับ AAA ในปีพ.ศ. 2546 คณะกรรมการทุกคนทำงานด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ และโปร่งใส จากการที่สมาชิกกองทุน ได้กู้เงินไปประกอบอาชีพ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ขึ้น และส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่มีชื่อเสียงของบ้านบัวคือ หม่ำ ( หม่ำเป็นสินค้า OTOP ซึ่งทำจากเนื้อวัวและเนื้อหมู ) ข้าวกล้องอินทรีย์ ผ้าทอพื้นเมือง ผักปลอดสารพิษ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าขาวม้า ผ้าถุง ผ้าเกล็ดเต่า ปุ๋ยอัดเม็ดชีวภาพ กล้วยเบรคแตก สิ่งประดิษฐ์จากกะลามะพร้าว ป็นต้น ปัจจุบันชาวบ้านบ้านบัวมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินไปประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จ ทำให้ทุกครัวเรือนมีการเก็บออมมากขึ้น หม่ำชัยภูมิ ได้ขื่อว่า "หม่ำตำนานรัก?แห่งเดียวของไทย ที่พรานป่าไปล่าสัตว์บนภูเขียว ?ภูคิ้งในอดีต ซึ่งต้องใช้เวลานาน 1-3 เดือน ในการเดินทางไป-กลับ พอล่าสัตว์ป่าได้ ก็คิดหาวิธีถนอมอาหารมาฝากลูก-เมีย ที่รออยู่บ้าน โดยที่เนื้อสัตว์ไม่เน่าเสีย พรานจึงสับเนื้อ ผสมตับ คลุกข้าวเหนียวและเกลือที่พกติดตัวไป ยัดใส่ในกระเพาะของสัตว์ หรือลำไส้ของสัตว์ เพื่อหมักหรือถนอมให้เก็บไว้ได้นาน เพื่อเป็นของฝากภรรยา พอกลับถึงบ้านนำมาชิม ปรากฏว่า มีรสชาติอร่อย เป็นที่ชอบใจภรรยา จึงถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นอาหารพื้นบ้านที่นิยมรับประทาน สืบมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ? ปัจจุบัน "หม่ำ? จึงเป็นอาหารพื้นเมืองชัยภูมิ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยในปัจจุบันนิยมทำจากเนื้อวัว หรือเนื้อหมู ผสมกับตับ กระเทียม เกลือ บดให้ละเอียด บรรจุไว้ในกระเพาะสัตว์ เนื่องจากเป็นการแปรรูปอาหารจากภูมิปัญญาที่เก็บไว้นานถึง 3 เดือน เป็นที่นิยมบริโภคมากที่สุดทั้งในและต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานและนิยมซื้อเป็นของกินของฝากชั้นนำสัญลักษณ์ที่สำคัญจังหวัดชัยภูมิ เพื่อเป็นสินค้าที่ระลึก ส่งผลให้หม่ำ เป็นสินค้า OTOP ประเภทอาหารพื้นบ้านที่สำคัญ ได้รับการรับรองตราอาหารปลอดภัย และ อย. จาก สสจ.ชัยภูมิ จุดเด่น หม่ำชัยภูมิ เป็นพก โดยใช้กระเพาะหมู บรรจุเพื่อให้เก็บรักษาคุณภาพได้นาน และรสชาติอร่อย แหล่งผลิตและจำหน่ายที่มีชื่อเสียงได้แก่ที่บ้านบัว อ.เกษตรสมบูรณ์ , อ.ภูขียว , ช่องสามหมอ อ.คอนสวรรค์ และ บริเวณห้าแยกโนนไฮ เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ 

มะม่วงแช่อิ่ม



 ประวัติความเป็นมา 
บ้านโนนม่วง เป็นหมู่บ้านที่มีมะม่วงแก้ว มากเหมือนชื่อหมู่บ้าน บรรพบุรุษในสมัยก่อนจึงทำมะม่วงแช่อิ่มเพื่อเก็บไว้รับประทานในฤดูขาดแคลน จึงเป็นการสืบทอดภูมิปัญญามาจากสมัยบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลานในปัจจุบัน และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาด เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาจนถึงปัจจุบัน
 กระบวนการขั้นตอนการผลิต
ขั้นตอนการดองมะม่วง
1) นำมะม่วงแก้วที่แก่จัดมาล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปดองในถัง
2) ผสมน้ำเกลือกับน้ำหมักลงในถังให้ท่วมมะม่วง ใช้ไม้ขัดแตะ คลุมด้วยพลาสติกและปิดฝาให้แน่น และหมักมะม่วงดองไว้ ประมาณ 1 เดือน
 
  ขั้นตอนการแช่อิ่ม
1) นำมะม่วงที่ดองแล้วมาปอกเปลือก แล้วหั่นเป็นชั้น ๆ
2) นำน้ำตาลกับน้ำเปล่าและเกลือป่น ต้มให้ละลาย ทั้งไว้ให้เย็น
3) นำมะม่วงดองที่หั่นเป็นชิ้น ๆ นำไปแช่ไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วนำเข้าตู้เย็นจะทำให้รดชาดอร่อย

 จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ 
หวาน กรอบ รดชาดอร่อย ไม่มีสารพิษเจือปน

ปริมาณการผลิต 
500 ถุงต่อเดือน
 ราคา
ถุงละ 20 บาท กิโลกรัมละ 50 บาท 

 สถานที่จำหน่าย 
- 229/2 หมู่ที่ 7 บ้านโนนม่วง ต.โพนทอง อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ 0-4482-3086, 0-6250-0419
 สนใจสั่งซื้อ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองชัยภูมิ โทรศัพท์ 0-4481-2915

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น